วิธีทำน้ำเขียวสูตร THBetta
สูตรน้ำเขียวของ THBetta เป็นสูตรสำหรับลูกค้าที่ซื้อชุด Starter Kit สำหรับทำน้ำเขียวเพาะเลี้ยงไรแดงของเราไปใช้โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามหากคุณไม่ได้เป็นลูกค้าของเรา ก็สามารถนำสูตรนี้ไปทดลองใช้ได้เช่นกัน เพียงแต่น้ำเขียวที่ได้อาจไม่เข้มข้นเท่า เพราะไม่ได้ใช้หัวเชื้อน้ำเขียวเข้มข้นคุณภาพสูงที่ได้ไปจากเรา
สิ่งที่ต้องเตรียม
ก่อนเริ่มทำน้ำเขียว มีสิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมดังนี้
- ภาชนะสำหรับใช้ทำน้ำเขียว เช่น กะละมังพลาสติก ซึ่งจุน้ำได้ 20 ลิตรเป็นอย่างน้อย
- หัวเชื้อน้ำเขียวเข้มข้น
- วัตถุดิบสำหรับทำปุ๋ยน้ำเขียว ได้แก่ ปุ๋ยยูเรีย, ปุ่ยนา, รำละเอียด, ปลาป่น, อามิอามิ, กากน้ำตาล และปูนขาว
- ถุงผ้า (หากไม่มีให้ใช้ถุงเท้าแทนได้) สำหรับใช้ห่อวัตถุดิบที่ใช้เป็นปุ๋ยน้ำเขียว
- น้ำ แนะนำให้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือหากใช้น้ำประปา ควรพักทิ้งไว้ 1 คืนก่อนนำมาใช้งาน
วิธีทำน้ำเขียว
เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว ให้เริ่มต้นทำน้ำเขียวตามขั้นตอนดังนี้
1. ใส่ส่วนผสมดังต่อไปนี้ลงในถุงผ้า แล้วมัดปากถุงผ้าเพื่อไม่ให้ส่วนผสมไหลออกมาได้
- ปุ๋ยยูเรีย 1 ช้อนโต๊ะ
- ปุ๋ยนา 1 ช้อนโต๊ะ
- รำละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
- ปลาป่น 1 ช้อนโต๊ะ
- ปูนขาว 1/2 ช้อนโต๊ะ
2. เตรียมกะละมังใส่น้ำปริมาณ 20 ลิตร แล้วใส่ถุงผ้าบรรจุปุ๋ยน้ำเขียวลงไป
3. ใส่อามิอามิและกากน้ำตาลลงในกะละมังตามปริมาณดังนี้…
- อามิอามิ 2 ช้อนโต๊ะ
- กากน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ
4. เทหัวเชื้อน้ำเขียวเข้นข้นปริมาณ 2 ลิตรตามลงไปในกะละมัง
5. คนส่วนผสมให้เข้ากัน แล้วปล่อยตากแดดทิ้งไว้ แนะนำให้ใส่อ็อกซิเจนเพิ่มด้วยเพื่อให้สาหร่ายคลอเรลล่าเติบโตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
6. หลังจากผ่านไป 1 วัน ให้นำถุงผ้าบรรจุปุ๋ยน้ำเขียวออกจากกะละมัง (เช่น เริ่มทำน้ำเขียวเย็นวันจันทร์ ให้นำถุงผ้าออกตอนเย็นวันอังคาร)
7. ปล่อยน้ำเขียวตากแดดไปเรื่อยๆ ระหว่างนี้ควรหมั่นคนน้ำเขียววันละ 2 ครั้งเช้า-เย็นเป็นอย่างน้อย เมื่อผ่านไปประมาณ 7-8 วันนับจากเริ่มทำ จะได้น้ำเขียวที่เข้มข้นได้ที่ (เช่น เริ่มทำน้ำเขียวเย็นวันจันทร์ น้ำเขียวจะใช้งานได้ประมาณเย็นวันอังคารของสัปดาห์ถัดไป) ให้ถ่ายน้ำเขียวจากกะละมังเดิมไปใส่ในกะลังใหม่โดยเทส่วนที่เป็นตะกอนก้นกะละมังทิ้งไป
น้ำเขียวที่ได้นี้ให้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งนำไปใช้เป็นหัวเชื้อเพื่อทำน้ำเขียวต่อไป (ใช้หัวเชื้อในอัตราส่วน 1 ลิตรต่อน้ำ 10 ลิตร) ส่วนที่เหลือนำไปใช้เลี้ยงไรแดง โดยก่อนปล่อยไรแดงลงเลี้ยง ให้เติมน้ำเปล่าผสมลงไปในอัตราส่วนน้ำเขียวต่อน้ำเปล่า 3:1 โดยประมาณ
8. ปล่อยแม่พันธุ์ไรแดงลงในกะละมังน้ำเขียวที่เตรียมไว้ (หากน้ำเขียวมีอุณหภูมิสูงเนื่องจากตากแดดตลอดทั้งวัน ควรรอให้น้ำเขียวลดอุณหภูมิลงก่อน แล้วปล่อยไรแดงในช่วงค่ำ) กรณีที่ไรแดงยังไม่ฟักตัวหรือยังมีจำนวนน้อย ก็สามารถปล่อยพักน้ำเขียวตากแดดไว้เฉยๆ เพื่อรอความพร้อมของไรแดงได้
ไรแดงจะเริ่มบูมอย่างเห็นได้ชัดหลังจากผ่านไปแล้วประมาณ 2-3 วัน (ขึ้นอยู่กับปริมาณแม่พันธุ์ที่ปล่อยลงไป) ให้ทยอยช้อนไรแดงไปเลี้ยงปลาได้
9. น้ำเขียวส่วนที่แบ่งไว้ใช้ทำหัวเชื้อ ให้นำไปขยายทำน้ำเขียวต่อไปตามวิธีการเดียวกัน โดยหากต้องการทำน้ำเขียวด้วยปริมาณน้ำที่มากขึ้น ก็ปรับอัตราส่วนของวัตถุดิบที่ใช้เป็นปุ๋ยน้ำเขียวให้เหมาะสม เช่น หากใช้น้ำ 100 ลิตร ให้ใส่ส่วนผสมคือ หัวเชื้อน้ำเขียว 10 ลิตร, รำละเอียด 5 ช้อนโต๊ะ, ปลาป่น 5 ช้อนโต๊ะ, ปุ๋ยยูเรีย 5 ช้อนโต๊ะ, ปุ๋ยนา 5 ช้อนโต๊ะ, ปูนขาว 2.5 ช้อนโต๊ะ, อามิอามิ 10 ช้อนโต๊ะ และกากน้ำตาล 5 ช้อนโต๊ะ เป็นต้น
คำแนะนำเพิ่มเติม
● เมื่อปล่อยไรแดงลงเพาะเลี้ยงในกะละมังน้ำเขียวแล้ว ควรตั้งกะละมังไว้กลางแจ้งเช่นเดิม แต่ให้หาวัสดุมาปิดกะละมังไว้ประมาณ 60-70% เพื่อไม่ให้ได้รับแสงแดดมากเกินไปจนน้ำมีอุณหภูมิสูงและทำให้ไรแดงตาย หรืออาจวางกะละมังเพาะเลี้ยงไรแดงในที่ร่มรำไรก็ได้
● ควรคนน้ำในกะละมังเพาะเลี้ยงไรแดงอย่างน้อย 2 ครั้งเช้า-เย็น เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเขียวตกตะกอนและเพื่อกำจัดฝ้าบนผิวน้ำ หากพบว่าผิวน้ำเกิดฝ้าจำนวนมาก ให้เปิดอ็อกซิเจนใส่เบาๆ เพื่อจำกัดฝ้าบนผิวน้ำ
หมายเหตุ: อ่านวิธีฟักไข่ไรแดงได้ที่นี่